สาระน่ารู้

การบำรุงรักษาเซลล์แสงอาทิตย์

การบำรุงรักษา (Maintenance) ที่จะกล่าวนี้เป็นการดูแลรักษาระบบ PVs เพื่อสามารถผลิตไฟฟ้าได้ยาวนานเท่าที่เป็นไปได้ เมื่อเทียบค่าบำรุงรักษากับระบบผลิตไฟฟ้าที่ใช้ในบ้านเรือนด้วยวิธีอื่น ๆ เช่น เครื่องปั่นไฟโดยใช้น้ำมันดีเซล เป็นต้น ถือว่าค่าบำรุงรักษาระบบโซล่าเซลล์นี้มีราคาที่ถูกกว่ามาก โดยทั่วไปจะมีการตรวจสอบและบำรุงรักษาอุปกรณ์หลัก ๆ ของระบบ PVs ได้แก่
       1.   การบำรุงรักษาแผงพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Panels)
       2.   การบำรุงรักษาตัวแปลงกระแสไฟฟ้าและระบบควบคุมต่าง ๆ (Inverter and Controller)
       3.   การบำรุงรักษาระบบสายไฟและระบบเชื่อมต่อต่าง ๆ (Wiring and Connections)
       4.   การบำรุงรักษาแบตเตอรี่ (Battery, The system with Battery Back-up)
 
1. การบำรุงรักษาแผงพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Panels)
       - ทำความสะอาดคราบสกปรกและฝุ่นที่เกาะบนแผงพลังงานแสงอาทิตย์ด้วยการล้างด้วยน้ำสะอาดและเช็ดคราบสกปรกออก บางครั่งคราบสกปรกจะเป็นพวกยางหรือมูลนกให้ใช้น้ำเย็นทำล้างและขัดด้วยฟองน้ำ  ข้อควรระวังในการทำความสะอาดแผงพลังงานแสงอาทิตย์คือ ห้ามใช้แปรงที่มีขนเป็นโลหะทำความสะอาดผิวของแผงพลังงานแสงอาทิตย์ นอกจากนี้ผงซักฟองก็ไม่ควรใช้ในการทำความสะอาดเพราะอุปกรณ์และน้ำยาทำความสะอาดดังกล่าวจะทำให้เกิดรอยที่ผิวแผงพลังงานแสงอาทิตย์ได้
ที่มาภาพ : https://fbcdn-photos-b-a.akamaihd.net
 
       - ตรวจสอบดูสภาพแผงพลังงานแสงอาทิตย์ว่ายังมีสภาพที่สมบูรณ์หรือไม่ เช่น รอยร้าว, รอยแตก, รอยฝ้าบริเวณผิว, มีรอยรั่วของน้ำภายในผิวแผงพลังงานแสงอาทิตย์ และ สีของแผงเปลี่ยน เป็นต้นให้มีการจดบันทึกและสังเกตการณ์สิ่งผิดปรกติต่าง ๆ ถ้าประสิทธิภาพลดลง อาจจะมีการซ่อมบำรุงหรือเปลี่ยนแผงพลังงานแสงอาทิตย์ที่มีปัญหาดังกล่าว
ที่มาภาพ : http://essgllc.com/
 
       - ตรวจสอบอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อกับแผงพลังงานแสงอาทิตย์ให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานเสมอ หากมีข้อผิดพลาดให้ทำการแก้ไขให้เร็วที่สุด
 
2. การบำรุงรักษาตัวแปลงกระแสไฟฟ้าและระบบควบคุมต่างๆ (Inverter and Controller)
       ระบบแปลงกระแสไฟฟ้าและระบบควบคุมต่าง ๆ ควรมีสภาพที่สะอาดปราศจากฝุ่นเกาะสะสม ฉะนั้นควรใช้ผ้าแห้งเช็คทำความสะอาดฝุ่นที่เกาะอุปกรณ์เหล่านี้ และใช้ไฟฉาย LED ส่องดูในช่องที่ตรวจสอบได้ยากเช่น รอยต่อต่างๆ ภายในอุปกรณ์ว่าอยู่ในสภาพสมบูรณ์หรือไม่ หากมีสภาพที่ไม่พร้อมใช้งานหรือชำรุด เช่น สายไฟมีการหลุดออกมา ถ้าตรวจพบให้ทำการแก้ไขให้เร็วที่สุด นอกจากนี้ต้องตรวจสอบกล่องที่ครอบอุปกรณ์ควบคุมต่าง ๆ นี้ต้องไม่มีแมลงหรือหนูมาทำรัง หากมีให้กำจัดทิ้งเพื่อป้องกันแมลงและหนูมาทำให้ระบบมีปัญหา
3. การบำรุงรักษาระบบสายไฟและระบบเชื่อมต่อต่างๆ (Wiring and Connections)
       การตรวจสอบระบบสายไฟและระบบเชื่อมต่อต่าง ๆ นั้นควรตรวจสอบว่าอุปกรณ์ดังกล่าวมีสภาพที่บ่งบอกถึงความไม่สมบูรณ์หรือชำรุดหรือไม่ เช่น รอยร้าว รอยแตก ความเสื่อมสภาพของฉนวนและท่อ รอยกัดกร่อนต่าง ๆ รอยไหม้ การเกิดประกายไฟตอนสับสวิตช์ไฟ สภาพของสายดิน เป็นต้น หากเกิดปัญหาดังกล่าวให้แจ้งผู้ที่มาติดตั้งมาซ่อมบำรุงให้เร็วที่สุดเท่าที่ทำได้
4. การบำรุงรักษาแบตเตอรี่ (Battery, The system with Battery Back-up)
       แบตเตอรี่ใช้ในระบบที่ต้องการสำรองไฟฟ้าเอาไว้ใช้งานั้น ต้องมีการตรวจสอบสภาพแบตเตอรี่ เช่น ปริมาณสารละลายอิเล็กโทรไลท์ รอยแตกร้าวบริเวณก้อนแบตเตอรี่ รอยกัดกร่อนบริเวณขั้วแบตเตอรี่ ระดับแรงดันของแบตเตอรี่ เป็นต้น แบตเตอรี่ที่มีสภาพดีควรสะอาด ไม่มีฝุ่นหรือคราบสกปรก และไม่ควรมีรอยกัดกร่อน และการรั่วของสารละลายอิเล็กโทรไลท์ การเกิดปัญหาที่กล่าวมาให้ทำการซ่อมบำรุงดังนี้
       - หากปริมาณสารละลายอิเล็กโทรไลท์น้อยเกินไปให้ทำการเติมสารละลายเข้าไปเพิ่มให้อยู่ในระดับที่ใช้งานปรกติ
       - การเกิดรอยกัดกร่อนบริเวณขั้วให้ทำความสะอาดซึ่งลักษณะการกัดกร่อนบริเวณขั้วจะเป็นคราบสีขาว โดยปรกติให้ทำความสะอาดเดือนละครั้ง
       - ระดับแรงดันของแบตเตอรี่ควรมีการตรวจสอบระดับแรงดันไฟฟ้าอย่างสม่ำเสมอ เมื่อมีความผิดปรกติให้ทำการตรวจสอบ ซ่อมบำรุง หรือเปลี่ยนก้อนแบตเตอรี่นั้น
5. ต้นทุนการติดตั้งระบบและระยะการคืนทุนของระบบ Solar Cell สำหรับบ้านเรือน
       ต้นทุนในการติดตั้งระบบ PVs สำหรับบ้านเรือนนี้จะมีต้นทุนรวม ๆ อยู่ที่ราว ๆ 50 – 200 บาทต่อวัตต์ซึ่งราคาต้นทุนนี้ขึ้นอยู่กับกำลังการผลิตไฟฟ้าของ PVs ที่ติดตั้ง ฉะนั้นระยะเวลาคืนทุนของระบบดังกล่าวจะอยู่ที่ราว ๆ 7- 20 ปี ซึ่งระยะเวลาคืนทุนจะขึ้นอยู่หลายปัจจัย เช่น คุณภาพของแสงอาทิตย์, ประสิทธิภาพของระบบ, พลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้, การขายไฟฟ้าให้แก่รัฐบาลหรือใช้งานเองภายในบ้าน และ การสนับสนุนด้านการเงินของรัฐบาล เป็นต้น

ที่มา : http://ienergyguru.com