ผนังอาคารแบบผนังทึบ หรือ Opaque Wall
ผนังอาคารนั้นเปรียบเสมือนเป็นเกราะชั้นแรกที่จะปกป้องตัวอาคารจากสภาวะแวดล้อมต่างๆ เช่น ความร้อนจากรังสีของดวงอาทิตย์ ความชื้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ เป็นต้น นอกจากนี้ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการใช้พลังงานภายในอากาศอีกด้วย โดยเฉพาะการใช้พลังงานในส่วนของระบบปรับอากาศ ดังนั้น การออกแบบระบบกรอบอาคารและการเลือกวัสดุมาใช้เพื่อสร้างผนังอาคารจึงมีความสำคัญอย่างมาก
สำหรับผนังอาคารนั้นโดยทั่วไปสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ลักษณะหลักๆ ได้แก่ ผนังทึบ (Opaque wall) และผนังโปร่งใส (Transparent wall) หรือผนังกระจก (Glass wall) โดยผนังทั้งสองลักษณะนี้มีความแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัดทั้งด้านกายภาพและกระบวนการการถ่ายเทความร้อนที่เกิดขึ้น
บทความนี้จะนำเสนอเกี่ยวกับชนิดของวัสดุผนังทึบที่มีการเลือกใช้อย่างกว้างขวางในปัจจุบัน ซึ่งประกอบด้วย 3 ชนิดหลักๆ ได้แก่ อิฐมอญ คอนกรีตบล็อกและคอนกรีตมวลเบา โดยลักษณะของวัสดุทั้ง 3 ชนิดมีรายละเอียด ดังนี้
อิฐมอญ (Brick) เป็นวัสดุที่ผลิตมาจากการนำดินเหนียวมาเผาเพื่อให้ได้วัสดุที่คงรูปและมีความแข็งแรงการใช้อิฐมอญในระบบก่อสร้างมีมาหลายสิบปี จึงเป็นวัสดุที่เป็นที่รู้จักและมีการใช้กันอย่างแพร่หลายในประเทศไทย เนื่องจากความเชื่อมั่นในความคงทน และผลิตได้เองในประเทศจากแรงงานท้องถิ่น คุณสมบัติของอิฐมอญจะยอมให้ความร้อนถ่ายเทเข้า-ออกได้ง่าย และเก็บความร้อนไว้ในตัวเอง เป็นเวลานาน และเนื่องจากอิฐมอญมีความจุความร้อนสูงทำให้สามารถกักเก็บความร้อนไว้ในเนื้อวัสดุได้มาก ก่อนที่จะค่อยๆถ่ายเทสู่ภายนอก จึงเหมาะกับการใช้กับบริเวณที่ใช้งานเฉพาะช่วงกลางวัน
คอนกรีตบล็อก (Concrete Masonry Unit) เป็นวัสดุที่ถูกผลิตในลักษณะอุตสาหกรรมมากกว่าอิฐมอญ ส่วนใหญ่จะมีลักษณะกลวง (Hollow Concrete Block) เป็นที่นิยมใช้มากเนื่องจากมีราคาถูก หาซื้อได้ง่าย และไม่มีปัญหาในขั้นตอนการก่อสร้าง เนื่องจากช่างมีความเคยชินในการใช้งาน อีกทั้งยังสามารถทำงานได้เร็วเพราะมีขนาดก้อนใหญ่กว่าอิฐมอญ และด้วยลักษณะที่มีรูกลวงตรงกลางทำให้ช่องอากาศภายในนั้นเป็นฉนวนในการกันความร้อนที่ดี แต่ข้อเสียคือจะเปราะและแตกง่าย การตอกตะปูยึดต้องทำที่ปูนก่อ เสาเอ็นหรือคานเอ็น น้ำจะซึมได้ดีกว่าอิฐมอญ
คอนกรีตมวลเบา (Autoclaved Aerated Concrete, ACC) เป็นวัสดุก่อที่มีการนำมาใช้ และเป็นที่นิยมมากขึ้นในปัจจุบัน เนื่องจากมีคุณสมบัติในการป้องกันความร้อนได้มากกว่าวัสดุก่อสร้างอื่นๆ โดยตัววัสดุเองมีส่วนผสมมาจาก ทราย ซีเมนต์ ปูนขาว น้ำ ยิบซัม และผงอลูมิเนียมรวมกัน แต่ส่วนที่สำคัญที่สุดก็คือฟองอากาศเล็กๆเป็นรูพรุนไม่ต่อเนื่อง (Disconnecting Voids) ที่อยู่ในเนื้อวัสดุมากประมาณ 75% ทำให้น้ำหนักเบา ซึ่งผลของความเบาจะช่วยให้ประหยัดโครงสร้าง อีกทั้งฟองอากาศเหล่านั้นยังเป็นฉนวนกันความร้อนที่ดี
จากลักษณะทางกายภาพของวัสดุก่อสร้างผนังทึมของอาคารทั้งสามชนิด จะเห็นว่าวัสดุทั้งสามมีทั้งข้อดีและข้อด้อยแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับสถานการณ์หรือลักษณะอาคารที่จะก่อสร้าง สำหรับตารางด้านล่างนี้ได้แสดงค่าคุณสมบัติต่างๆ ของวัสดุก่อสร้างผนังทึบทั้ง 3 ชนิด เปรียบเทียบกัน โดยมีรายละเอียดดังนี้