สาระน่ารู้

ระบบกักเก็บพลังงาน(Energy Storage System: ESS)

ระบบกักเก็บพลังงาน(Energy Storage System: ESS)

ที่มา: https://newscience.ul.com/articles/safeguarding-emerging-energy-storage-systems
ระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System: ESS) หมายถึง ระบบและอุปกรณ์ ที่สามารถเปลี่ยนพลังงานไฟฟ้าเป็นพลังงานในรูปแบบอื่นเพื่อให้สามารถกักเก็บไว้เพื่อการใช้งานในเวลาอื่นที่จำเป็นได้ โดยระบบกักเก็บพลังงานจะแปลงพลังงานที่กักเก็บไว้ในกลับมาเป็นพลังงานไฟฟ้าอีกครั้งเมื่อมีความต้องการใช้ไฟฟ้า ระบบกักเก็บพลังงานนั้นมีหลากหลายรูปแบบและมีตั้งแต่ขนาดเล็ก เช่น แบตเตอรี่โทรศัพท์ ไปจนถึงขนาดใหญ่ เช่น โรงไฟฟ้าพลังงานน้ำแบบสูบกลับ ตัวอย่างเช่น โรงไฟฟ้าพลังน้ำลําตะคองแบบสูบกลับ จังหวัดนครราชสีมา ที่ใช้หลักการแปลงพลังงานไฟฟ้าที่เหลือใช้จากการผลิตในช่วงไม่มี peak load กักเก็บไว้ในรูปของพลังงานศักดิ์ด้วยการสูบน้ำไปเก็บไว้บนที่สูง เพื่อใช้เป็นแหล่งผลิตไฟฟ้าสำรองในช่วงที่มี peak load

ที่มา: http://www2.egat.co.th/internews/showdetail.php?id=149
 
ระบบกักเก็บพลังงานมีความจําเป็นสำหรับระบบไฟฟ้าในอนาคตเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากระบบกักเก็บพลังงานสามารถส่งเสริมให้ระบบผลิตไฟฟ้ามีเสถียรภาพและรักษาคุณภาพไฟฟ้าได้ นอกจากนี้ ยังเป็นส่วนสนับสนุนการเปลี่ยนโหลดทางไฟฟ้าไปสู่ช่วงเวลาที่เหมาะสม ซึ่งทำให้มีการบริหารจัดการพลังงานได้ดียิ่งขึ้น และนั้นหมายถึงความสามารถในการใช้พลังงานได้คุ้มค่า และเป็นการประหยัดพลังงานได้ด้วย
บทบาทและวัตถุประสงค์ของระบบกักเก็บพลังงานไฟฟ้าแต่ละประเภทนั้นมีความแตกต่างกันออกไป แต่สำหรับในบทความนี้เราจะพูดถึงบทบาทการช่วยประหยัดพลังงานไฟฟ้า จากใช้งานระบบกักเก็บพลังงานไฟฟ้าในอาคารเพื่อเป็นการอนุรักษ์พลังงานไฟฟ้าที่ใช้ในตัวอาคาร ในปัจจุบันอาคารขนาดใหญ่ที่ก่อสร้างขึ้นใหม่ มักจะมีระบบบริหารจัดการพลังงานในอาคาร (Building Energy Management System: BEMS) เพื่อช่วยในการจัดการ ควบคุม และติดตามระบบพลังงานต่างๆ ภายในอาคาร
ที่มา: http://www.climatetechwiki.org/technology/jiqweb-bems
จากรูปจะเห็นได้ว่า ในรูประบบบริหารจัดการพลังงานในอาคารนัน้จะมีระบบกักเก็บพลังงานเป็นส่วนประกอบอยู่ด้วย เพื่อรองรับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนซึ่งมีความไม่แน่นอนสูง เช่น พลังงานแสงอาทิตย์จาก solar rooftop ที่ติดตั้งบนตัวอาคาร โดยเมื่อมีการผลิตไฟฟ้าได้เป็นจำนวนมากกว่าโหลดไฟฟ้าที่มีอยู่ แทนที่จะสิ่งไปโดยเปล่าประโยชน์ก็สามารถนำพลังงานส่วนเกินนั้นมาเก็บสะสมไว้ในระบบกักเก็บพลังงาน ต่อมา ในช่วงเวลาที่การผลิตไฟฟ้าได้น้อยลง เช่น ช่วงเวลาที่ไม่มีแดดหรือลม ระบบกักเก็บพลังงานจะจ่ายพลังงานที่กักเก็บไว้เข้าในระบบในรูปแบบพลังงานไฟฟ้า ส่งผลให้ระบบไฟฟ้ายังคงมีความมั่นคง ความเชื่อถือ และช่วยให้เกิดผลประหยัดโดยรวมของอาคารได้มากขึ้นอีกด้วย