ปัจจุบันมีโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เกิดขึ้นในประเทศไทยมากขึ้น เพื่อสอดรับกับนโยบายการพัฒนาพลังงานทดแทนของภาครัฐ ที่ได้ตั้งเป้าหมายให้สามารถใช้ทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิลได้อย่างน้อยร้อยละ 25 ภายใน 10 ปี ซึ่งพลังงานแสงอาทิตย์นับเป็นหนึ่งในพลังงานทดแทนหลัก เนื่องจากพื้นที่ประเทศของไทยมีศักยภาพพลังงานแสงอาทิตย์ค่อนข้างสูง
โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่เรียกได้ว่าเป็นต้นแบบในธุรกิจพลังงานทดแทนในประเทศไทย นั่นคือ “ลพบุรี โซลาร์" ซึ่งก่อตั้งโดย 3 พันธมิตรสำคัญ ได้แก่ เอ็กโก กรุ๊ป ของไทย ซีแอลพี จากฮ่องกง และดีจีเอ จากญี่ปุ่น เนื่องจากเป็นโรงไฟฟ้าที่ใช้เทคโนโลยีแผงเซลล์แสงอาทิตย์ “แบบฟิล์มบาง” (Thin Film) แห่งแรกของไทย มีพื้นที่ขนาดใหญ่ที่สุดในอาเซียนและใหญ่ติดอันดับโลก เพราะใช้แผงเซลล์แสงอาทิตย์กว่า 545,000 แผง ตั้งอยู่บนพื้นที่กว่า 1,200 ไร่ ณ อำเภอโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี มีกำลังการผลิตถึง 55 เมกะวัตต์ สามารถผลิตพลังงานสะอาดให้แก่ประชาชนกว่า 400,000 คน หรือประมาณ 70,000 ครัวเรือน
นอกจากนี้ ยังได้รับการสนับสนุนทางด้านการเงินและที่ปรึกษาจากธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) ด้วย รวมทั้งได้รับใบรับรองมาตรฐานมงกุฎไทย ในฐานะผู้ดำเนินโครงการกลไกการพัฒนาที่สะอาด (Clean Development Mechanism-CDM) หรือตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change หรือ UNFCCC) ซึ่งมีส่วนช่วยประเทศไทยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศได้มากกว่า 1.3 ล้านตัน ตลอดอายุการดำเนินงาน 25 ปี และช่วยลดการนำเข้าเชื้อเพลิงได้มากถึงปีละ 35,000 ตัน
เหตุผลที่แผงเซลล์แสงอาทิตย์ฟิล์มบางแบบแผงกระจกไร้กรอบ ถูกเลือกเข้ามาใช้ในโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่อย่าง “ลพบุรี โซลาร์” นี้ เพื่อลดข้อจำกัดบางประการของแผงเซลล์แสงอาทิตย์แบบรูปผลึก เช่น สามารถทำงานได้ในที่อุณหภูมิสูงและมีความคงทนต่อความร้อนมากกว่า แผงกระจกสามารถติดตั้งได้รวดเร็วกว่าและง่ายกว่า เหมาะสมกับการใช้งานในโครงการขนาดใหญ่ รวมทั้งยังสามารถนำไปรีไซเคิลได้ง่ายกว่าแผงเซลล์แสงอาทิตย์แบบเดิม ตัวอย่างเช่น แผงกระจกจะ มีการเกาะตัวของฝุ่นน้อยลง จึงทำให้ไม่ต้องทำความสะอาดและบำรุงรักษาบ่อยๆ ลดค่าใช้จ่ายทางด้านปฏิบัติการและบำรุงรักษา (O&M) เป็นต้น
การปฏิบัติการและการบำรุงรักษา (O&M) ของระบบผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ที่เป็นเลิศ จะส่งผลให้เกิดข้อผิดพลาดของระบบน้อยที่สุด และสามารผลิตไฟฟ้าได้เต็มประสิทธิภาพ โดยข้อตกลงทางการบริหารจัดการด้าน O&M อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของบริษัท เอ็กโก เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ เซอร์วิส จำกัด (เอสโก) ในกลุ่ม เอ็กโก ซึ่งเป็นผู้มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญอย่างสูงในการให้บริการทางด้านปฏิบัติการและบำรุงรักษาโรงไฟฟ้า เป็นบริษัทที่ดูแลด้าน O&M ของโรงไฟฟ้าแห่งนี้
นอกจาก “ลพบุรี โซลาร์" แล้ว ปัจจุบันทั้ง 3 พันธมิตรยังอยู่ในระหว่างการก่อสร้างโครงการ “วังเพลิง โซลาร์” ซึ่งเป็นโครงการส่วนขยายเพิ่มเติมจาก “ลพบุรี โซลาร์” มีกำลังการผลิต 8 เมกะวัตต์ บนพื้นที่ข้างเคียงกันประมาณ 200 ไร่ ใช้เทคโนโลยีแผงเซลล์แสงอาทิตย์แบบฟิล์มบาง คาดว่าจะก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์ประมาณไตรมาสแรกของปี 2556
ที่มา : http://www.egco.com