สาระน่ารู้

ฉลากประสิทธิภาพสูง พพ.

ฉลากประสิทธิภาพสูง ของกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน
ฉลากประสิทธิภาพสูง คือ ฉลากที่แสดงค่าประสิทธิภาพสำหรับผลิตภัณฑ์ โดยค่าประสิทธิภาพที่ปรากฏบนตัวฉลาก เป็นค่าประสิทธิภาพที่ได้จากการทดสอบจริงตามมาตรฐานที่กำหนดของแต่ละผลิตภัณฑ์ ซึ่งเกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการจัดทำแผนส่งเสริมเครื่องจักร อุปกรณ์ประสิทธิภาพสูง และวัสดุอุปกรณ์ เพื่อการอนุรักษ์พลังงานในปี พ.ศ. 2549 ของกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เพื่อศึกษาว่ามีอุปกรณ์ใดมีประสิทธิภาพในการประหยัดพลังงานสูงมากพอที่จะทำการส่งเสริมให้มีการใช้งานอย่างแพร่หลาย โดย พพ. ได้คัดเลือกผลิตภัณฑ์นำร่อง จำนวน 4 ชนิด ได้แก่ เตาแก๊ส อุปกรณ์ปรับความเร็วรอบมอเตอร์ กระจก และฉนวนใยแก้ว ซึ่งขณะนี้มีผลิตภัณฑ์ที่พร้อมประกาศประสิทธิภาพขั้นสูงตามกฎกระทรวงทั้งหมด 8 ผลิตภัณฑ์ และในปีพ.ศ. 2552 ได้มีการมอบฉลากประสิทธิภาพสูงให้แก่ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ โดยมีผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการนำร่องในผลิตภัณฑ์แต่ละประเภทประมาณ 10 กว่าราย และได้อนุมัติฉลากไปทั้งหมด 200,000 ฉลาก โดยตามแผนดำเนินการเมื่อถึงปี พ.ศ. 2554 ตั้งเป้าหมายให้กำหนดมาตรฐานประสิทธิภาพขั้นสูงผลิตภัณฑ์ทั้งหมด 54 ผลิตภัณฑ์
ในการทดสอบนั้น พพ. ได้มอบหมายให้คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นผู้ดำเนินการในการหาห้องปฏิบัติการที่เหมาะสมในการทดสอบประสิทธิภาพการใช้พลังงานของผลิตภัณฑ์ โดยผู้ขอติดฉลากประสิทธิภาพสูงต้องนำผลิตภัณฑ์ไปทดสอบยังห้องปฏิบัติการเหล่านั้น นอกจากนี้ พพ. ยังได้ว่าจ้าง คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี จัดทำมาตรฐานประสิทธิภาพขั้นสูงของผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ และจากการดำเนินโครงการส่งเสริม เครื่องจักรอุปกรณ์ประสิทธิภาพสูง และวัสดุเพื่อการอนุรักษ์พลังงานโดยการติดฉลาก ซึ่งปัจจุบัน พพ.ได้ออกฉลากประสิทธิภาพสูงดังกล่าวแล้วประมาณ 23 ล้านใบ ส่งผลให้เกิดการประหยัดพลังงานเทียบเท่าน้ำมันดิบรวม 150,000 ตัน คิดเป็นจำนวนเงินมูลค่า 4,500 ล้านบาท และช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์รวม 0.75 ล้านตัน โดยในปีพ.ศ. 2560 มีผลิตภัณฑ์ที่ พพ. ออกฉลากประสิทธิภาพสูง ทั้งสิ้น 16 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ เตาหุงต้มในครัวเรือนใช้กับก๊าซปิโตรเลียมเหลว, เตาก๊าซความดันสูง, อุปกรณ์ปรับความเร็วรอบมอเตอร์, กระจกอนุรักษ์พลังงาน, ฉนวนใยแก้วแผ่นเรียบ, มอเตอร์เหนี่ยวนำสามเฟส, เครื่องยนต์ดีเซลขนาดเล็กระบายความร้อนด้วยน้ำ, เครื่องยนต์แก๊สโซลีนขนาดเล็กระบายความร้อนด้วยอากาศ, สีทาผนังอาคาร, เครื่องอัดอากาศขนาดเล็กแบบลูกสูบ, ปั๊มความร้อน, มอเตอร์เหนี่ยวนำเฟสเดียว, เตารังสีอินฟราเรด, ฟิล์มติดกระจก, ชิ้นส่วนคอนกรีตมวลเบา และหลังคากระเบื้อง โดยตั้งเป้าให้มีการออกฉลากประสิทธิภาพสูงทั้งหมด 28 ล้านใบ โดยภายในฉลากประสิทธิภาพสูง ของ พพ.นั้นได้มีรายละเอียดข้อมูลของผลิตภัณฑ์ ดังตัวอย่างต่อไปนี้

 
หมายเลข 1 คือ หมายเลขแสดงระดับประสิทธิภาพ เบอร์ 5 เป็นระดับประสิทธิภาพสูงสุด
หมายเลข 2 คือ ส่วนแสดงชื่อหน่วยงานที่รับผิดชอบ
หมายเลข 3 คือ ส่วนแสดงชื่อผลิตภัณฑ์ที่ส่งเสริม
หมายเลข 4 คือ ส่วนแสดง ยี่ห้อ รุ่น ชนิด ของผลิตภัณฑ์
หมายเลข 5 คือ ส่วนแสดงค่าประสิทธิภาพต่าง ๆ ของผลิตภัณฑ์นั้น
          และ เมื่อเดือนพฤษภาคม ปีพ.ศ. 2560 ได้มีพิธีลงนามความร่วมมือโครงการฉลากประสิทธิภาพสูงสำหรับบ้านที่อยู่อาศัย ระหว่างกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว. พม.) โดยการเคหะแห่งชาติ (กคช.) กับกระทรวงพลังงาน โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฝผ.) มีวัตถุประสงค์เพื่อผลักดันให้เกิดการประหยัดพลังงานในอาคารและบ้านที่อยู่อาศัย ด้วยการบูรณาการการออกแบบ เลือกใช้วัสดุการก่อสร้าง และอุปกรณ์ไฟฟ้า เพื่อการประหยัดพลังงาน พร้อมให้คำแนะนำผู้ประกอบการในการพัฒนาปรับปรุง แบบอาคารให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น โดยในการดำเนินงานนำร่องระหว่าง 2 หน่วยงาน ตั้งเป้าให้เกิดบ้านเบอร์ 5 ไม่ต่ำกว่า 115,000 หลัง ซึ่งคาดว่าจะสามารถลดการใช้พลังงานไฟฟ้าได้กว่า 128 ล้านหน่วยต่อปี หรือปีละ 512 ล้านบาท พร้อมลดคาร์บอนไดออกไซด์กว่า 67,000 ตันต่อปี

          การดำเนินการในโครงการส่งเสริมเครื่องจักรอุปกรณ์ประสิทธิภาพสูง และวัสดุเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน โดยการติดฉลากประสิทธิภาพสูง ของ พพ. จะเร่งรณรงค์ประชาสัมพันธ์และส่งเสริมให้ประชาชนหรือผู้ประกอบการได้รับรู้ และเลือกใช้อุปกรณ์ประสิทธิภาพสูงเพื่อการอนุรักษ์พลังงานอย่างถูกต้อง รวมทั้งเป็นการส่งสัญญาณให้ผู้ประกอบการภาคธุรกิจ และอุตสาหกรรมผลิตสินค้าประสิทธิภาพสูงที่ช่วยการประหยัด พลังงานมากยิ่งขึ้น นอกจากจะช่วยให้ผู้บริโภคลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานแล้ว ยังช่วยให้ลดการใช้พลังงานของประเทศในภาพรวมด้วย


ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ฉลากประสิทธิภาพสูง