สาระน่ารู้
ปัจจัยภายใน ที่มีผลต่อการออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน
(1) ตัวอาคารหรือรูปทรงอาคาร
รูปทรงอาคารที่เหมาะสมควรมีอัตราส่วนพื้นที่ผิวต่อพื้นที่ใช้สอยต่ำสุด หรือการออกแบบให้กรอบอาคารมีเส้นรอบรูปน้อย ควรมีการรั่วซึมของอากาศต่ำ แต่ยอมให้มีการไหลเวียนอากาศผ่านผิวอาคารในกรณีที่อาคารมีรูปทรงเรียวยาว ควรวางอาคารในแนวทิศตะวันออก – ตะวันตก ข้อมูลด้านล่างต่อไปนี้ เป็นข้อมูลในการพิจารณารูปทรงอาคารที่เหมาะสม
(2) ผนังอาคาร
ผนังถือเป็นส่วนที่มีความสำคัญมากในการช่วยให้อาคาร บ้านอยู่อาศัยมีประสิทธิภาพในการประหยัดพลังงาน เนื่องจากพลังงานส่วนใหญ่ที่ใช้ในอาคารที่อยู่อาศัย โดยส่วนใหญ่ใช้เพื่อควบคุมอุณหภูมิในอาคารให้เหมาะสมกับการทำกิจกรรมต่าง ๆ ของผู้อยู่อาศัย หรือผู้ที่กำลังปฏิบัติกิจกรรมต่าง ๆ ในอาคารดังกล่าว โดยเฉพาะเมืองไทยเป็นเมืองร้อน การเลือกใช้ผนังอาคารที่เหมาะสม จึงเป็นส่วนสำคัญเพื่อลดภาระการใช้พลังงานเพื่อทำความเย็นให้ภายในตัวอาคาร
(3) หลังคาอาคาร
หลังคาเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ส่งเสริมให้อาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงานมีประสิทธิภาพสูงยิ่งขึ้น เช่น การเพิ่มความสามารถในการต้านทานความร้อนให้กับหลังคา (ค่า R สูง) โดยการติดตั้งหรือบุฉนวนกันความร้อนใต้หลังคาหรือระหว่างชั้นฝ้าเพดานกับหลังคา โดยอาจมีช่องระบายอากาศเพื่อระบายอากาศร้อนจากใต้หลังคาออกสู่ภายนอกอาคาร
(4) ฉนวนกันความร้อน
ฉนวนอุปกรณ์เสริมที่สำคัญสำหรับอาคาร การเลือกชนิดฉนวนที่เหมาะสม ทั้งที่ติดตั้งบริเวณผนังหรือหลังคาเพื่อทำให้ ตัวอาคารมีประสิทธิภาพในการผลิตพลังงานได้สูงสุด เช่น ใยแก้วหรือไฟเบอร์กลาส ร็อควูล หรือ
โฟมชนิดต่างๆ เป็นต้น
(5) ระบบแสงสว่าง
การออกแบบแสงสว่างเพื่อประหยัดพลังงานไฟฟ้า เช่น การออกแบบให้มีหน้าต่างโดยรอบอาคารและเลือกใช้กระจกใส จะช่วยให้ภายในอาคารสว่างกว่าการเลือกใช้กระจกสีชา ส่งผลให้สามารถลดการใช้ไฟฟ้าแสงสว่างลงได้ เป็นต้น
(6) ระบบปรับอากาศ
เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศในเขตโซนร้อน อาคารที่อยู่อาศัยส่วนใหญ่ จึงต้องใช้ระบบปรับอากาศหรือเครื่องปรับอากาศ เพื่อเป็นการควบคุมอุณหภูมิในอาคารให้ เหมาะสมต่อการทำกิจกรรมต่าง ๆ ของบุคลากรในอาคาร การใช้เครื่องปรับอากาศ หรือระบบปรับอากาศจึงต้องคำนึงถึงปัจจัยต่าง ๆ เช่น ควรใช้เครื่องปรับอากาศแยกส่วนและรุ่นประหยัดไฟฟ้า เบอร์ 5 และให้มี เบรกเกอร์ เปิด – ปิด แยกสำหรับแต่ละเครื่อง เป็นต้น
(7) กระจก
กระจกเป็นส่วนประกอบของอาคารที่ส่งผลต่อการใช้พลังงานในอาคาร เนื่องจากเป็นส่วนที่รับความร้อนและส่งผ่านความร้อนจากแสงอาทิตย์เข้าสู่ในอาคารได้ ดังนั้นเลือกชนิดกระจกและเทคนิคการติดตั้งจึงเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยลดการใช้พลังงานในอาคารได้