สาระน่ารู้
อาคารประหยัดพลังงานและอาคารเขียว
“การออกแบบอาคารประหยัดพลังงาน” เชื่อว่าหลายท่านอาจเคยได้ยินกันบ่อยครั้ง โดยเฉพาะกลุ่มคนที่อยู่ในงานสายนี้ ทั้งนี้เนื่องจากปัญหาเรื่องพลังงานเป็นเรื่องสำคัญระดับประเทศ โดยพลังงานที่ใช้ในภาคอาคารธุรกิจมีสัดส่วนสูงมากขึ้น พร้อมกับปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมก็ยิ่งทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกัน การออกแบบอาคารจึงจำต้องมีการขยายขอบเขตให้มีการคำนึงเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น จนเกิดคำว่า "อาคารเขียว หรือ Green Building"
อาคารเขียว คืออะไร
หลายๆ ท่านอาจสงสัยว่า อาคารเขียวกับอาคารประหยัดพลังงานเหมือนหรือต่างกันอย่างไร แล้วอะไรจะเป็นตัวชี้วัดว่าอาคารนี้คืออาคารเขียวหรืออาคารประหยัดพลังงาน
ในประเทศสหรัฐอเมริกาได้มีการพัฒนาเกณฑ์ประเมินอาคารขึ้นมา ซึ่งสามารถใช้ชี้วัดได้ว่าอาคารนี้เป็นอาคารเขียวหรือไม่ และมีระดับความเป็นอาคารเขียวระดับใด มาตรฐานดังกล่าวก็คือ มาตรฐาน LEED ซึ่งย่อมาจากคำว่า Leadership in Energy and Environmental Design โดยมาตรฐาน LEED เป็นมาตรฐานที่เน้นเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainability ซึ่งหมายถึง การพัฒนานั้นต้องสามารถตอบสนองความต้องการของผู้คนในปัจจุบันได้โดยไม่ทำให้คนรุ่นหลังต้องเดือดร้อน อาคารเขียวตามนิยามของมาตรฐาน LEED นี้จึงหมายถึงอาคารที่มีความรับผิดชอบในการรักษาสิ่งแวดล้อมและสามารถใช้ทรัพยากรต่างๆ ที่มีอยู่ได้อย่างมีประสิทธิภาพตลอดวงจรอายุอาคาร
"วงจรอายุ หรือ Life Cycle" วงจรอายุในที่นี้จะพิจารณาตั้งแต่ขั้นตอนการวิเคราะห์เลือกที่ตั้งอาคาร การออกแบบ การก่อสร้าง การใช้งาน การบำรุงรักษา การปรับปรุง และการทำลายเมื่อเลิกใช้ จึงอาจกล่าวโดยสรุปลักษณะของอาคารเขียวได้คือ
1) ต้องใช้พลังงาน น้ำ ที่ดิน วัสดุก่อสร้างอย่างมีประสิทธิภาพ
2) ต้องคำนึงถึงสุขภาพของผู้ใช้อาคารและส่งเสริมประสิทธิภาพในการทำงานของพักงาน และ
3) ลดของเสียและมลภาวะต่างๆ เกิดขึ้นจากอาคาร
/// องค์ประกอบของอาคารเขียวตามมาตรฐาน LEED
นอกจากจะเรียกว่า "อาคารเขียว" อาจเรียกว่า "การก่อสร้างที่ยั่งยืน (Sustainable Construction)" หรือ "อาคารสมรรถภาพสูง (High-performance Building)" ได้เช่นกัน
ด้วยเหตุนี้ตามนิยามของมาตรฐาน LEED อาคารประหยัดพลังงานเป็นเพียงส่วนหนึ่งของอาคารเขียว เนื่องจากอาคารประหยัดพลังงานจะวัดกันที่ปริมาณพลังงานระหว่างการใช้สอยอาคารเป็นหลัก โดยมิได้คำนึงถึงพลังงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องตลอดวงจรอายุอาคาร เช่น พลังงานที่ใช้สำหรับการขนส่งวัสดุก่อสร้าง และไม่ได้ครอบคลุมเรื่องจากใช้ทรัพยากรอื่นๆ อย่างมีประสิทธิภาพด้วย เช่น การใช้น้ำ เป็นต้น
ที่มา : แนวทางการออกแบบอาคารเขียว (Green Building) ตามเกณฑ์การประเมินของ LEED โดย ผศ.ดร.พันธุดา พุฒิไพโรจน์ LEED AP (ข้อมูลเพิ่มเติม http://www.coa.co.th/)