หลังคาเขียว (Green Roof) มิใช่การเล่นสีหลังคาเพื่อความสวยงาม แต่หมายถึงหลังคาที่ใช้พืชพรรณสีเขียวไปปลูกบนดินที่เหมาะสมเพื่อลดความร้อน ที่ผ่านเข้าสู่อาคารทางหลังคา ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้สิ้นเปลืองพลังงานในการทำความเย็นเป็นสัดส่วนที่มากเมื่อเทียบกับความร้อนทั้งหมดที่เข้าสู่ทางอาคาร “เปลือกอาคาร” (Building Envelop) นอกจากการประหยัดพลังงานแล้ว หลังคาเขียวยังมีคุณประโยชน์อีกมากมาย เช่น ช่วยลดปริมาณน้ำฝนจากหลังคาที่ไหลสู่ระบบระบาย เป็นการช่วยบรรเทาการท่วมจากน้ำฝนช่วงฝนตกหลักและการสร้างระบบนิเวศน์ในเมืองอีกด้วย
คุณประโยชน์หลักของหลังคาเขียวนอกจากเป็นการอนุรักษ์พลังงานที่โยงไปถึงการบรรเทาภาวะโลกร้อนจากการลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ แล้ว ยังช่วยประหยัดงบประมาณค่าทำความเย็นและความอุ่นได้มากอีกด้วย ที่ทำการนครชิกาโก สามารถประหยัดเงินได้มากถึง 25,000 เหรียญภายในเวลา 5 ปี จากการสร้างหลังคาเขียวเนื้อที่ 2,000 ตารางเมตร บนหลังคาอาคารที่ทำการนครโตเกียวมีอาคารใหม่เป็นหลังคาเขียวร้อยละ 20 ประเทศเยอรมนีมีหลังคาเขียวรวมกันทั้งประเทศร้อยละ 12 ซึ่งช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และช่วยประหยัดเงินเฉพาะค่าพลังงานที่ใช้กับเครื่องปรับอากาศในฤดูร้อนได้มหาศาล ประโยชน์สำคัญอีกประการหนึ่งสำหรับหลังคาเขียวในเมืองหนาแน่น คือ การช่วยลดปริมาณน้ำฝนที่ไหลลงจากหลังคา ซึ่งสร้างปัญหาน้ำฝนท่วมฉับพลัน หลังคาเขียวที่มีดินปลูกและชั้นรองรับหนา 20 ซ.ม. สามารถอุ้มน้ำฝนช่วง 15 นาทีแรกได้ร้อยละ 93.2 – 76.6 – 64.4 และ 54.4 ของปริมาณฝน 25 – 50 -75 และ 100 มม. ตามลำดับ ประโยชน์สำคัญของหลังคาเขียวถัดมาได้แก่ การลดเสียงรบกวนหลังคาเขียวสามารถลดเสียงรบกวนที่มาจากด้านหลังคาได้ถึงมากร้อยละ 40 เดซิเบล นอกจากนี้ ยังมีคุณประโยชน์อื่นหลายประการ เช่น ใช้เป็นสวนพักผ่อน ใช้ปลูกผัก ผลไม้ และไม้ดอก ช่วยกรองมลพิษ และโลหะหนักที่ติดเมล็ดฝนนำขณะตกผ่านอากาศ ช่วยปลดปล่อยก๊าซออกซิเจน ในขณะที่เก็บกักก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ให้ที่อยู่อาศัยพักพิงของนกและสัตว์ เป็นการส่งเสริมระบบนิเวศในชุมชนเมือง ฯลฯ ช่วยทำให้พื้นโครงสร้างดาดฟ้า และระบบกันซึมมีอายุใช้งานนานขึ้น