ที่มาภาพ : https://th.wikipedia.org
เนื่องจากลิฟต์เป็นอุปกรณ์ประกอบอาคารสำหรับอาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษ ที่ให้บริการผู้ใช้อาคารในการเดินทางและขนส่งระหว่างชั้นของอาคาร โดยเป็นอุปกรณ์ที่เน้นในเรื่องของความปลอดภัยเป็นอันดับแรก รองลงมาคือด้านการบริการ ดั้งนั้นในส่วนของการประหยัดพลังงานที่จะกล่าวต่อไปนี้ จึงเป็นเพียงข้อแนะนำให้ผู้ออกแบบ ผู้จัดหา และผู้บริหารอาคาร ใช้เป็นหลักปฎิบัติในการทำงานเพื่อส่งเสริมให้มีการใช้งานลิฟต์อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดการประหยัดพลังงาน โดยยังคงรักษามาตรฐานด้านความปลอดภัยและการให้บริการที่ดีของอาคารไว้
การออกแบบและเลือกใช้ลิฟต์เพื่อการอนุรักษ์พลังงาน
การออกแบบและเลือกใช้ลิฟต์เพื่อการอนุรักษ์พลังงานนั้นมุ่งเน้นให้ความสำคัญในการออกแบบและเลือกใช้ลิฟต์ตั้งแต่ขั้นตอนแรก เพื่อจะให้ได้ลิฟต์ที่มีขนาดของกำลังมอเตอร์ต่ำที่สุด มีการสูญเสียไฟฟ้าและความร้อนน้อยที่สุด และมีจำนวนลิฟต์น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ด้วย โดยมีแนวทางปฏิบติดังนี้
1) ออกแบบลิฟต์โดยใช้การกำหนดรอบระยะเวลาของการให้บริการสูงสุด(maximum trip time) ซึ่งจะสามารถลดทั้งน้ำหนักบรรทุกและความเร็วของลิฟต์
2) เลือกใช้ลิฟต์ที่อัตราความเร็วที่กำหนดต่ำสุด(minimum rated speed) เท่าที่จะทำได้ จากเหตุผลด้านเทคนิคที่ลิฟต์ขนาดน้ำหนักบรรทุกเท่ากัน ตัวที่มีความเร็วสูงกว่าจะมีขนาดมอเตอร์ที่พิกัดสูงกว่าด้วย
3) เลือกใช้เครื่องลิฟต์ชนิดขับเคลื่อนโดยตรง (gearless machine) เพราะมีการสูญกำลังไฟฟ้าและความร้อนน้อยกว่าเครื่องลิฟต์ที่ขับเคลื่อนด้วยเฟือง(geared machine)เกือบ 2 เท่า
4) เลือกใช้ลิฟต์ โดยพิจารณาระบบควบคุมการขับเคลื่อนชนิดแปรเปลี่ยนแรงเคลื่อนไฟฟ้าและความถี่ (variable voltage , variable frequency control) เพราะมีการสูญกำลังไฟฟ้าและความร้อนน้อยกว่า และมีความได้เปรียบในด้านการเร่งความเร็วและลดความเร็วที่ใช้เวลาน้อยกว่าและมีความนุ่มนวลกว่า
5) การควบคุมการใช้งานลิฟต์ เลือกใช้ระบบควบคุมการใช้งานของลิฟต์ให้เหมาะกับลักษณะการใช้งานของอาคาร จำนวนผู้โดยสารในช่วงการใช้งานสูงสูด (peak time) ตัวอย่างเช่น อาคารเพื่อที่อยู่อาศัย อาคารโรงแรมทั่วไป อาคารโรงพยาบาล ที่มีการใช้งานไม่มากนัก การเลือกใช้ระบบควบคุมแบบ Selective Collective Control น่าจะเพียงพอ แต่ถ้าเป็นอาคารสำนักงานขนาดใหญ่ ที่มีการจราจรหนาแน่น ควรเลือกใช้ ระบบควบคุมแบบ Computerized System Control
6) น้ำหนักของวัสดุที่ใช้ตกแต่งห้องลิฟต์ (Decoration Load) ไม่ควรเกิน 20%ของน้ำหนักบรรทุกที่กำหนด (Rated Load)
7) ระบบระบายอากาศในห้องเครื่องลิฟต์อาจไม่จำเป็นต้องติดตั้งระบบปรับอากาศในห้องเครื่องลิฟต์ กรณีที่สามารถติดตั้งระบบระบายอากาศได้ตามข้อกำหนดในมาตรฐานของ ว.ส.ท. (E.I.T. Standard 3007-43) ซึ่งกำหนดไว้ว่า ในห้องเครื่องลิฟต์ จะต้องติดตั้งระบบระบายอากาศทางกล เพื่อรักษาค่าอุณหภูมิของอากาศในระยะ 1.00 เมตรโดยรอบเครื่องจักรที่ให้ความร้อนไม่ให้สูงกว่า 38 องศาเซลเซียส
ดูรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับลิฟต์ได้ที่ http://ienergyguru.com/2015/11/energy-conservation-of-lift/
ที่มา : www.ienergyguru.com