สาระน่ารู้

การออกแบบอาคารเพื่อการประหยัดพลังงาน (ENERGY BUILDING)

ข้อพิจารณาในการออกแบบขั้นพื้นฐาน

1. การพิจารณาทิศทางแดดและลมประจำถิ่น

1.1 พยายามหลีกเลี่ยงวางตำแหน่งด้านยาวของอาคารให้หันหน้าเข้าหาทิศตะวันออกและทิศตะวันตก เนื่องจากจะมีแสงแดดร้อนจัดในเวลาบ่าย ทำให้สิ้นเปลืองค่าไฟฟ้าในการใช้เครื่องปรับอากาศ เพื่อลดอุณหภูมิภายในห้อง

 

1.2 เปลี่ยนแกนตามยาวของอาคารให้หันด้านสกัดของอาคารอยู่ทิศตะวันตก เพื่อลดความร้อนจากแสงแดดยามบ่าย
 



 1.3 สภาพที่ดินไม่เอื้ออำนวยต่อการวางแนวอาคารแบบข้อ 1.2 โดยจำเป็นต้องวางอาคารตามแนวยาวขนานกับถนนและเป็นทิศตะวันตก ให้ใช้วิธีให้ร่มเงาแก่อาคารแก้ปัญหาแดดส่องอาคาร
 

         - ให้ปลูกต้นไม้ยืนต้นอยู่ด้านทิศตะวันตก เพื่อบังร่มเงาแก่อาคาร แต่มีข้อพึงระวัง คือ ห้ามปลูกต้นไม้ที่รากชอนเป็นอันตรายต่อตัวอาคาร เช่น ต้นหางนกยูง เป็นต้น
 

           - ทิ้งชายคาหลังคายาวหรือยื่นกันสาด / ระเบียง / ห้องชั้นบน จัดทำแผงบังแดดแก่อาคารที่อยู่ด้านทิศตะวันตก

 
1.4 บานหน้าต่างให้เปิดรับลมจากทิศตะวันตกเฉียงใต้และทิศใต้ เนื่องจากเป็นทิศทางที่มีลมประจำพัดผ่านถึง 9 เดือน ในระยะเวลา 1 ปี



2. การพิจารณาวัสดุกรอบอาคารเพื่อประหยัดพลังงาน

ภาระการทำความเย็นของอาคารส่วนใหญ่มาจากปริมาณความร้อนที่ผ่านวัสดุกรอบอาคาร (building envelope) เข้ามาภายในอาคาร การลดปริมาณความร้อนที่ผ่านกรอบอาคารจึงเป็นปัจจัยหลักที่จะช่วยทำให้สามารถลดการใช้พลังงานลงได้

การลดความร้อนผ่านผนังและการออกแบบผนังภายนอกอาคารทำได้โดย
 


- ต้องเพิ่มความสามารถในการต้านทานความร้อนโดยบุฉนวนกันความร้อน หรือใช้ผนัง 2 ชั้นที่มีช่องว่างอากาศ       ระหว่างชั้นของผนังเป็นฉนวนกันความร้อน
- สีของผนังภายนอกอาคารควรเป็นสีอ่อน หรือใช้วัสดุผิวมันเพื่อสะท้อนความร้อน
 

การลดความร้อนผ่านหลังคาการออกแบบหลังคาอาคารทำได้โดย

- ติดตั้งแผ่นฟิล์มอลูมินัมบางๆ ที่สะท้อนความร้อนได้ดีไว้ที่ด้านล่างของหลังคา 
- หลีกเลี่ยงการทำช่องแสงบนหลังคา แต่ถ้าต้องมีควรทำแผงบานเกล็ดบังแสงแดดและติดตั้งให้ถูกทิศทาง
- วัสดุหลังคาควรเป็นวัสดุที่มีมวลสารน้อย มีการดูดกลืนและสะสมความร้อนต่ำ
- ให้ลอนของหลังคาวางขวางกับการโคจรของดวงอาทิตย์

การลดความร้อนผ่านช่องเปิดของอาคารทำได้โดย
- พิจารณาให้มีสัดส่วนของพื้นที่กระจกต่อพื้นที่ผิวของอาคาร (window-to-wall ratio; WWR)
- หลีกเลี่ยงรังสีตรงจากดวงอาทิตย์ที่จะส่องผ่านช่องเปิดของอาคาร
- ควรเลือกวัสดุกระจกที่มีค่า SHGC (Solar Heat Gain Coefficient) ต่ำ

3. การประยุกต์การลดการใช้พลังงานภายในอาคาร

1. การใช้แสงธรรมชาติในอาคาร โดยเฉพาะแสงกระจาย
2. การควบคุมการรั่วซึมของอากาศ ใช้รูปทรงที่มีการรั่วซึมของอากาศต่ำ สามารถควบคุมได้โดยการติดตั้งวัสดุป้องกันความชื้นร่วมกับฉนวนด้วยสำหรับผนัง
3. การจัดกลุ่มพื้นที่ใช้สอยให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมโดยรอบ สำหรับการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิไม่ควรเปลี่ยนอย่างฉับพลัน ให้จัดลำดับการเปลี่ยนแปลงจากพื้นที่ภายในสู่ภายนอก
4. การระบายอากาศโดยวิธีธรรมชาติ วางอาคารตั้งฉากกับกระแสลมเพื่อให้ลมช่วยระบายอากาศแบบธรรมชาติสามารถใช้ต้นไม้ช่วยบังลมในด้านที่ไม่ต้องการได้

ที่มา : แนวทางการออกแบบกรอบอาคาร